สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษา การจัดหลักสูตรอบรม บริการวิชาการเพื่อให้ความรู้ในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมในการลดปัญหา

 

  • โครงการสร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมในการลดสารไดออกซินและลดมลพิษจากแหล่งกำเนิดความร้อนในภาคอุตสาหกรรมผ่านการใช้เชื้อเพลิง LPG

 โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติของสถาบัน ได้จัดหลักสูตรไปตามสถานศึกษาต่าง ๆ เพื่อปลูกฝังเยาวชนให้มีจิตสำนึกการมีส่วนร่วมในการลดสารไดออกซินและลดมลพิษจากการเผาไหม้ รวมทั้งมีองค์ความรู้ด้านพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านช่องทางการเรียนรู้ แบบ E-Learning และแบบ DATA CENTER การใช้ Infographics รวมถึงการใช้ภาพเคลื่อนไหวและเสียงเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการเทคโนโลยีที่ดีที่สุด (Best Available Techniques) และแนวปฏิบัติทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด (Best Environmental Practices)

 

  • โครงการพัฒนาหลักสูตรด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อถ่ายโอนองค์ความรู้จากวัยเกษียณสู่วัยกระเตาะ

 โดยศาสตราจารย์ ดร.วิสาขา ภู่จินดา คณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม หัวหน้าโครงการ เพื่อวิเคราะห์บริบทของการจัดการสิ่งแวดล้อมจากภูมิปัญญาท้องถิ่นของผู้สูงอายุ วิเคราะห์ศักยภาพของผู้สูงอายุในการถ่ายโอนองค์ความรู้ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม วิเคราะห์องค์ประกอบของหลักสูตรด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยภูมิปัญญาท้องถิ่น และพัฒนาหลักสูตรด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยภูมิปัญญาท้องถิ่น สำหรับถ่ายโอนองค์ความรู้จากผู้สูงอายุสู่เด็ก ซึ่งประกอบด้วย 4 รายวิชา ได้แก่ การเตรียมความพร้อมเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยสูงอายุ การจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชน โดยภูมิปัญญาท้องถิ่น การรับมือกับภัยใกล้ตัว และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะฉุกเฉินและภัยธรรมชาติ ผู้สูงอายุกับการถ่ายทอดความรู้ และกิจกรรมการถ่ายโอนองค์ความรู้จากวัยเกษียณสู่วัยกระเตาะ มีการฝึกปฏิบัติการเปลี่ยนขยะเป็นไม้กวาด กระถางต้นไม้ตามหลัก BCG โดยทำการศึกษากับผู้สูงวัย 5 ภาค 10 จังหวัดทั่วประเทศ

 

  • แนวทางในการป้องกันสุขภาพ และโครงการพลเมืองสร้างสรรค์ (Active Citizen) และผู้นำเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง (Prime Mover) ในบริบทการจัดการคุณภาพอากาศสำหรับประเทศไทย

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ ดำเนินโครงการเพื่อสร้างผู้นำการขับเคลื่อน (Prime Mover) โดยมุ่งเน้นสนับสนุนไปที่ความเข้มแข็งของเครือข่าย Prime Mover เพื่อเสริมสร้างให้เกิดเป้าหมายที่ชัดเจนต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศโดยอาศัยความเชี่ยวชาญในสาขาที่หลากหลาย ที่จะส่งผลต่อการขับเคลื่อนอย่างมีมิติที่รอบด้าน พัฒนาเครือข่ายพลเมืองสร้างสรรค์ (Active Citizen) โดยการคัดเลือกไปยังกลุ่มคนที่มีศักยภาพด้านการต่อยอดข้อมูล และเกื้อหนุนเสริมภาคีเครือข่าย ผ่านกระบวนทัศน์ใหม่ (New Paradigm) ภายใต้ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Prime mover) เพื่อให้สังคมเกิดการตระหนักรู้ กระตุ้นแรงจูงใจ และทราบถึงสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลง ถึงภัยร้ายของมลพิษอากาศที่มีต่อสุขภาพ และนำเสนอองค์ความรู้ที่ทันสมัยและเกี่ยวข้องกับปัญหาด้านสุขภาพจากมลพิษทางอากาศ รวมทั้งแนวทางในการแก้ไขในมิติต่าง ๆ ผ่านบทความวิชาการ อินโฟกราฟฟิก และโมชั่นคลิปที่มีอิทธิพลในอุดมการณ์ การสร้างแรงบันดาลใจ การกระตุ้นทางปัญญา ที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบสุขภาพจากมลพิษทางอากาศในเอกัตตะบุคคลของตนเอง

 

  • โครงการการสร้างความตระหนักและเสริมสร้างความรู้ให้กับเยาวชนในการลดปัญหามลพิษฝุ่นละอองทางอากาศ

 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ ดำเนินการให้ความรู้กับกลุ่มเยาวชนในกลุ่มประเทศสมาชิก AEC 10 ประเทศ โดยมี ไทย, พม่า, ลาว, เวียดนาม, มาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, กัมพูชา, บรูไน ในการจัดทำ Infographics (Animation Slides) ภาพเคลื่อนไหวในแบบ Motion clips เป็นภาษาอังกฤษ เกี่ยวกับการลดปัญหามลพิษฝุ่นละอองทางอากาศ และจัดฝึกอบรมการใช้ประโยชน์จาก Infographics (Animation slides) และ Motion clips