ที่มาและความสำคัญ

ตำบลดอนกำ มีศักยภาพการพัฒนาเกษตรกรรมแบบยั่งยืน โดยมีศักยภาพในเชิงพื้นที่ คือ มีทรัพยากรที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ในพื้นที่ตำบลดอนกำ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ใช้ในการเพาะปลูก ที่อยู่อาศัย และพื้นที่สาธารณะ ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ ได้แก่ ดิน น้ำ ต้นไม้ อากาศที่ปลอดมลพิษและสารพิษ ประชาชนในพื้นที่ตำบลดอนกำ ร้อยละ 60.44 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยการทำนาเป็นหลัก เป็นลักษณะนาปรังและนาปี ประเภทนาหว่าน โดยศักยภาพที่สำคัญที่สุดและเป็นแรงขับเคลื่อนในการดำเนินการ คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งยังมีผู้นำชุมชนที่ให้ความร่วมมือในการพัฒนาเกษตรกรรมเพื่อความยั่งยืนบนพื้นฐานแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ได้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการซึ่งเป็นการยกระดับสถานภาพของตำบล เริ่มต้นจากการเป็นตำบลมุ่งสู่ความพอเพียง เพื่อพัฒนายกระดับเป็นตำบลมุ่งสู่ความยั่งยืน โดยทีม U2T ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้ดำเนินการพัฒนาตามโจทย์พัฒนาพื้นที่ คือ แก้ไขปัญหาความยากจน ด้านการสร้างงานและสร้างรายได้ ในประเด็นที่ค่อนข้างเป็นปัญหา คือ รายได้เฉลี่ยของคนในครัวเรือนต่อปีค่อนข้างต่ำ แม้อาชีพหลักของประชากรในท้องถิ่นคือ เกษตรกรรม แต่เมื่อถึงฤดูแล้ง จะเกิดปัญหาความขาดแคลนน้ำเพื่อใช้การเกษตร ทำให้ประชากรไม่สามารถทำการเกษตรและขาดรายได้ในช่วงฤดูแล้งและการใช้สารเคมีในการเพาะปลูกที่มาก

 

ผลงานจากโครงการ

กิจกรรมที่เด่นชัดภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ในพื้นที่ตำบลดอนกำ มีดังนี้

  • การแปรรูปสินค้าและปรับปรุงผลิตภัณฑ์
  • การอบรมเพื่อเพิ่มทักษะอาชีพ ด้านการพัฒนาตลาดออนไลน์เพื่อการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ให้แก่ประชากรในพื้นที่ตลอดจนนำองค์ความรู้เผยแพร่สู่ชุมชน
  • การฝึกอบรมการทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ การลดต้นทุน ลดการใช้สารเคมีในการปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ และการทำเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง

 

ผลลัพธ์จากโครงการ

ภายหลังจากโครงการจากเดิมที่มีสถานะเป็นตำบลมุ่งสู่ความพอเพียง และจากการดำเนินโครงการสามารถยกระดับตำบลให้เป็นตำบลมุ่งสู่ความยั่งยืน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับชุมชนจากโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการที่ดำเนินการโดยทีม U2T ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ คือ

1.ประชาชนมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ในช่วงฤดูแล้งที่ไม่สามารถทำการเกษตรได้

2.สามารถเพิ่มยอดขายผลิตภัณฑ์ชุมชนหลังจากเพิ่มช่องทางการขายผ่านเว็บ https://donkamtouringroute.com

3.ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมีการปลูกผักปลอดสารพิษ หรือลดการใช้สารเคมีในการทำการเกษตร