ที่มาและความสำคัญ

ตําบลอู่ตะเภา เป็นชุมชนที่มีการประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยมีประเภทพืชผลทางการเกษตรคือ การปลูกข้าว ปลูกผลไม้ประจำฤดูกาล ปลูกพืชผักสวนครัว และพืชผักทางเศรษฐกิจเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งการทำเกษตรของชุมชนนั้นจะอาศัยแหล่งน้ำสาธารณะในพื้นที่ในการทำเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ ชุมชนอู่ตะเภานั้นเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมแก่การทำเกษตรกรรม แต่ว่าการทำเกษตรกรรมในบางครั้งชาวเกษตรกรมีความต้องการที่จะเร่งผลผลิตให้ออกมาเป็นจำนวนมากตามที่ต้องการ จึงมีการใช้สารเคมีในการทำการเกษตร จากนั้นปัญหาด้านสุขภาพของคนในชุมชนจึงกลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามมาจากการกหันมาใช้ผลิตภัณฑ์จากสารเคมี บ่งชี้ให้เห็นว่าคนในชุมชนนั้นมีปัญหาด้านสุขภาพ จึงมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินแนวทางในการแก้ไขปัญหาทางสังคมเหล่านี้เพื่อแก้ไขข้อจำกัดทางด้านการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ได้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการซึ่งเป็นการยกระดับสถานภาพของตำบล เริ่มต้นจากการเป็นตำบลที่อยู่รอด เพื่อพัฒนายกระดับเป็นตำบลที่มุ่งสู่ความพอเพียง โดยทีม U2T ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้ดำเนินการพัฒนาตามโจทย์พัฒนาพื้นที่ คือ ชุมชนอู่ตะเภามีการประกอบอาชีพเกษตรกรรมโดยส่วนใหญ่ชุมชนมีการใช้สารเคมีภายในพื้นที่ค่อนข้างมาก ต้องการผลักดันการลดใช้สารเคมีควบคู่กับการผลักดันการท่องเที่ยวภายในพื้นที่เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจโดยการเข้ามาส่งเสริมในรูปแบบการท่องเที่ยวให้คนเห็นถึงความสำคัญของการใช้สารเคมีและเพื่อตอบโจทย์กลุ่มนักท่องเที่ยวที่สนใจทางด้านผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

ผลงานจากโครงการ

กิจกรรมที่เด่นชัดภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ในพื้นที่ตําบลอู่ตะเภา มีดังนี้

  • กิจกรรมการเตรียมความพร้อมด้านการจัดการสุขอนามัย (SHA) และมาตรการการปฎิบัติในสถานการณ์โควิดสำหรับชุมชน
  • กิจกรรมการถ่ายทอดองค์ความรู้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน
  • กิจกรรมการจัดทำโมเดลธุรกิจการท่องเที่ยววิถีเกษตรและแผนการตลาดผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น
  • กิจกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากการต่อยอดฐานทรัพยากรชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาอาชีพ
  • กิจกรรมการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ
  • กิจกรรมการสัมมนาเชิงปฏิบัติการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชากรกลุ่มเป้าหมายและ 4 องค์กรหลักภายในชุมชน

 

ผลลัพธ์จากโครงการ

ภายหลังจากโครงการจากเดิมที่มีสถานะเป็นตำบลที่อยู่รอด และจากการดำเนินโครงการสามารถยกระดับตำบลให้เป็นตำบลที่มุ่งสู่ความพอเพียง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับชุมชนจากโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการที่ดำเนินการโดยทีม U2T ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ คือ

1.ชุมชนสามารถสร้างรายได้เสริมจากการเข้าไปทำกิจกรรมของโครงการ U2T โดยเป็นการนำทรัพยากรที่มีอยู่มาสร้างความน่าสนใจให้เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน

2.ชุมชนสามารถนำความรู้ที่ได้จากการดำเนินกิจกรรมของโครงการ ไปสร้างอาชีพและร่วมมือกัน ลดความเหลื่อมล้ำ คุณภาพชีวิตดีขึ้น