ที่มาและความสำคัญ

แขวงวังทองหลาง 5.558 ตร.กม. มีประชากร 24,208 คน จำนวนครัวเรือน 13,303 ครัวเรือน ความหนาแน่นของประชากร 4,355.25 คน/ตารางกิโลเมตร จากการเก็บข้อมูลปริมาณขยะกลุ่มพื้นที่เป้าหมายก่อนเริ่มดำเนินการโครงการพบว่าไม่มีการคัดแยกขยะ ร้อยละ 46.70 และมีการคัดแยกขยะร้อยละ 15.30 โดยขยะที่มีการคัดแยกสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ขยะสดย่อยสลายได้ร้อยละ 46.29 ขยะรีไซเคิลร้อยละ 23.70 และขยะทั่วไปร้อยละ 30.01

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ได้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการซึ่งเป็นการยกระดับสถานภาพของตำบล โดยทีม U2T ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้ดำเนินการพัฒนาตามโจทย์พัฒนาพื้นที่ คือ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนพื้นที่แขวงวังทองหลาง โดยใช้กระบวนการจัดการขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน(Circular Economy) เป็นเครื่องมือในการพัฒนา ร่วมกับศาสนสถาน โรงเรียน ชุมชน ตลาดและสำนักงานเขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร

 

ผลงานจากโครงการ

กิจกรรมที่เด่นชัดภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ในพื้นที่แขวงวังทองหลาง มีดังนี้

  • จัดอบรมส่งเสริมความรู้คู่กับการปฏิบัติในการรวมกลุ่มร่วมมือเป็นเครือข่ายเรียนรู้การจัดการขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน 3R
  • การนำขยะอินทรีย์ และขยะรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ด้วยเทคนิคการทำน้ำหมักชีวภาพ
  • การใช้หลัก DIY ด้วยการนำวัสดุรีไซเคิล ให้เป็นของใช้ของตกแต่ง จนเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น นำขวดน้ำพลาสติกมาทำไม้กวาด ปลาตะเพียน ดอกไม้ นำถุงพลาสติกมาทำดอกไม้ นำเศษผ้ามาทำกระเป๋าใส่กุญแจ และนำป้ายไวนิลมาทำกระเป๋า เป็นต้น

 

ผลลัพธ์จากโครงการ

จากการอบรมส่งเสริมความรู้และทักษะการจัดการขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนส่งผลให้มีผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับชุมชนจากโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการที่ดำเนินการโดยทีม U2T ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ คือ

1.สามารถลดรายจ่าย ด้วยการนำของไม่ใช้แล้วนำกลับมา DIY ใหม่ ให้เป็นของใช้และของตกแต่ง

2.เกิดการต่อยอดความรู้การจัดการขยะให้เป็นทรัพยากรสู่อาชีพเสริมเพิ่มรายได้อย่างหลากหลาย

3.จากชีวิตสังคมเมืองที่ต่างคนต่างอยู่ โครงการได้ช่วยให้เกิดการรู้จักกัน มารวมกลุ่ม ช่วยกันคิด ร่วมกันทำ

4.สามารถลดปริมาณขยะกว่า 40 ตัน และได้สร้างสิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น

5.เกิดการเรียนรู้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตนอกโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ช่วยลดความเลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างยั่งยืน