แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- Details
- SDGS - Research
รองศาสตราจารย์ ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ร่วมเป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ทุกภาคส่วนใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการดำเนินงานด้านการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง นำไปสู่เป้าหมายการสร้างอากาศดี เพื่อคนไทยและผู้มาเยือน โดยจัดทำเป็นแผน 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง และระยะยาว โดยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และชุมชนท้องถิ่น
และ รองศาสตราจารย์ ดร.ภัคพงศ์ พจนารถ และคณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการประเมินมาตรการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เป็นปัญหาที่มีความรุนแรงและได้รับความสนใจจากภาคสาธารณะเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติให้การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ในปี พ.ศ. 2562 เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในภาพรวมของประเทศในพื้นที่วิกฤต การดำเนินการตามมาตรกาในแผนงานจำเป็นต้องมีการประเมินเพื่อให้ทราบถึงประสิทธิผลและผลกระทบของมาตรการในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลรวมถึงผลการคาดการณ์ในอนาคต แผนงานวิจัยนี้ ประกอบไปด้วย 2 โครงการวิจัยย่อย คือ โครงการการประเมินมาตรการการแก้ไขมลพิษด้านฝุ่นละออง PM2.5 และผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และ โครงการการศึกษาความเป็นไปได้ในการทดแทนรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลในปัจจุบันด้วยยานยนต์ไฟฟ้า ยานยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ และยานยนต์ที่ได้มาตรฐานค่าไอเสียยูโร 6 ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในบรรยากาศ ผลการศึกษาจากโครงการแรกพบว่ามาตรการที่สำคัญของแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ที่คัดเลือกมา 11 มาตรการ มี 8 มาตรการที่สามารถลดฝุ่นละอองจากแหล่งกำเนิดได้โดยตรง โดยที่ผลการบูรณาการการศึกษาในทุกด้านทำให้ระบุมาตรการที่มีประสิทธิผลสูง สามอันดับคือ การห้ามเผาในที่โล่งและเผาขยะโดยเด็ดขาดในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล การทำงานจากระยะไกลในภาครัฐและขอความร่วมมือจากภาคเอกชน และการตรวจจับรถยนต์และเรือควันดำอย่างเข้มงวดและสั่งห้ามใช้จนกว่าจะทำการแก้ไข มาตรการเหล่านี้สามารถลดฝุ่นละออง PM2.5 ได้มาก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมต่ำ รวมทั้งมีประสิทธิผลในการนำไปปฏิบัติ ในโครงการที่สองการดำเนินงานตามนโยบายชาติด้านการลดการปล่อยมลพิษจากยานยนต์ในอนาคต (NPS)และการดำเนินการที่มุ่งเร่งให้การปล่อยมลพิษจากยานยนต์เป็น “ศูนย์” ในอนาคต (AZS) สามารถทำให้ฝุ่น PM2.5 ลดลง 20-21% ในปี พ.ศ. 2568 และ 87-90% ในปี พ.ศ. 2593 ตามลำดับ การศึกษาในทั้งสองโครงการเป็นการยืนยันว่า การลดฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลนั้นขึ้นอยู่กับการจัดการภาคการขนส่งและการจัดการภาคการเกษตรเป็นอย่างมาก การพัฒนาเมืองและเทคโนโลยีที่นำมาใช้ จะทำให้ฝุ่น PM2.5 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต ภาครัฐจำเป็นต้องใช้ทั้งเครื่องมือในการควบคุมการปล่อยฝุ่น PM2.5 อย่างเข้มงวด และสร้างกลไกการสนับสนุนการลดการปล่อยฝุ่น PM2.5 ที่สร้างประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมโดยสมัครใจ
ข้อมูลเพิ่มเติม : https://www.pcd.go.th/strategy