สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและร่วมกับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Partnership for the Goals) ผ่านนโยบายและโครงการต่าง ๆ มากมาย ดังที่ปรากฏเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสถาบัน 5 ปี (พ.ศ.2566 – 2570) ที่กำหนดวิสัยทัศน์ว่า “เป็นสถาบันสรรค์สร้างปัญญาของสังคม และสร้างผู้นำเพื่อไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับสากล” ตามหลักปรัชญาของสถาบันที่ว่า “สร้างปัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งมีผลลัพธ์ที่คาดหวัง 3 ประการ ได้แก่ สร้างปัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และสร้างคุณประโยชน์ให้ชุมชนและสังคม โดยนโยบายที่เกี่ยวข้องกับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับชาติและนานาชาติด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน มีรายละเอียดดังนี้

 1. ด้านการสร้างปัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อสร้างความรู้ให้เกิดปัญญา โดยเน้นงานวิจัยที่ตอบโจทย์ท้าทายสังคม และงานที่สร้างองค์ความรู้ในระดับชั้นนำทางวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งประกอบด้วย

 1) พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือการวิจัยนานาชาติ สร้างวาระการวิจัยขนาดใหญ่เกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยผ่านความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ภาคอุตสาหกรรม ภาคเอกชน คณาจารย์อาวุโส คณาจารย์รุ่นใหม่ ตลอดจนนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่า

2) พัฒนาแผนการวิจัยสหวิทยาการ สร้างเครือข่ายพัฒนาทุนมนุษย์ในการทำวิจัยเพื่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง โดยร่วมมือกันระหว่างคณาจารย์ภายในสถาบันและนอกสถาบัน เพื่อบูรณาการงานวิจัยในสาขาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ในการสร้างความเข้าใจที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ซับซ้อนของมนุษย์ในมิติต่าง ๆ 

 3) กำหนดยุทธศาสตร์และทิศทางการวิจัยของสถาบัน และประเด็นการวิจัยที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม หรือแก้ไขปัญหาขององค์การ สังคม และประเทศ โดยสนับสนุนให้มีการเผยแพร่และนำเสนอสู่สังคม รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ด้านงานวิจัยอย่างเป็นระบบ

2. ด้านการสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เป็นการพัฒนานักศึกษา ให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง และเป็นพลเมืองของประเทศและของโลก โดยการพัฒนาหลักสูตรและระบบการเรียนรู้ที่มุ่งให้ผู้เรียนมีทักษะที่ตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 พร้อมเรียนรู้และฝึกปฏิบัติจากชุมชนหรือสังคมภายนอก ซึ่งอาจเป็นหน่วยงานภาครัฐ/เอกชน หรือชุมชน หรือกระทั่งในต่างประเทศ พร้อมกับการหล่อหลอมค่านิยมเรื่องการยึดมั่นในหลักคุณธรรม มีจิตสาธารณะ และรับผิดชอบต่อสังคม 

3. ด้านการสร้างคุณประโยชน์ให้ชุมชนและสังคม เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาของสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันโดยการส่งเสริมสังคมและชุมชนให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านบทบาทร่วมกับเครือข่ายของภาคส่วนต่าง ๆ ดังนี้ 

 1) ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยผ่านความร่วมมือของศูนย์ต่าง ๆ ภายในสถาบันสู่เครือข่ายภาคส่วนภายนอก อาทิ ศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม ศูนย์การพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น

 2) NIDA for All สร้างความร่วมมือในการดำเนินงานโครงการพัฒนาสังคมร่วมกับประชาคมในสถาบันและชุมชนรอบสถาบัน เช่น ภาคเอกชน ประชาชน ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการปรึกษาหารือประเด็นสาธารณะอย่างเป็นมิตรและสร้างประโยชน์แก่ชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน

3) ศูนย์ภูมิภาคสำหรับหลักสูตรอบรม เป็นการใช้ศูนย์ภูมิภาคเป็นศูนย์อบรมโดยร่วมกับเครือข่ายเพื่อจัดอบรมให้แก่บุคลากรในประเด็นต่าง ๆ ที่มีความสำคัญ อันจะเป็นการพัฒนาความรู้ความสามารถให้แก่ทรัพยากรบุคคล  

 

 

 

แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสถาบัน 5 ปี (พ.ศ.2566 – 2570)

 

เปิดอ่านแบบ ebook