โครงการการบริหารโครงการวิจัยเพื่อยกระดับการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ด้านการวิจัย และนวัตกรรม: ด้านผู้สูงอายุ (Research Project Management to Enhance Research and Innovation on SDGs for Older Persons)

โดย รศ.ดร. อมรรัตน์ อภินันท์มหกุล* และ ผศ.ดร. นิรมล อารยอาภากมล*

*อาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

 

สรุปประเด็นสำคัญ

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ตั้งอยู่บนหลักการจะไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง การดูแลผู้สูงอายุเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี มีความมั่นคงด้านรายได้ และเข้าถึงบริการต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อสุขภาวะ ถือเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โครงการศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสังเคราะห์และเชื่อมโยงงานวิจัยที่ตอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านผู้สูงอายุ ระบุช่องว่างการวิจัย และจัดทำข้อเสนอแนะสำหรับประเด็นวิจัยที่ควรได้รับการสนับสนุนต่อไป เพื่อส่งเสริมให้เกิดการยกระดับการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการวิจัยและนวัตกรรมด้านผู้สูงอายุ

การดำเนินงานวิจัยอาศัยการสำรวจความสอดคล้องของอุปสงค์และอุปทานของงานวิจัยด้านผู้สูงอายุโดยด้านอุปสงค์อาศัยการสำรวจความต้องการงานวิจัยของหน่วยงานปฏิบัติระดับกรมที่มีพันธกิจหลักด้านการดูแลผู้สูงอายุ ขณะที่การวิเคราะห์อุปทานของงานวิจัย จะคัดสรรงานวิจัยจากฐานข้อมูลงานวิจัยด้านผู้สูงอายุของ วช. ในระหว่างปี พ.ศ. 2559 – 2563 ที่ผ่านการประมวลผลด้วยเทคนิคการวิเคราะห์คำ (text analytics) แล้วว่า มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านผู้สูงอายุอย่างมีนัยสำคัญ

ผลการศึกษาพบว่า อุปสงค์และอุปทานงานวิจัยด้านผู้สูงอายุขาดความเชื่อมโยงกัน เนื่องจากหน่วยงานปฏิบัติไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดโจทย์วิจัยและการทำวิจัยเท่าใดนัก ขณะเดียวกัน วช. ขาดการประชาสัมพันธ์ผลการศึกษาให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุได้รับทราบเท่าที่ควร นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่าการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายและการส่งเสริมงานวิจัยด้านผู้สูงอายุของไทย มุ่งเน้นประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเป้าหมาย SDG3 (สุขภาวะ) SDG8 (เศรษฐกิจและการจ้างงาน) และ SDG11 (ที่อยู่อาศัย) มากที่สุด ขณะที่เป้าหมาย SDG5 (ความเสมอภาคทางเพศ) SDG10 (ลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ) และ SDG16 (การบังคับใช้กฎหมาย และความยุติธรรม) ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเท่าใดนัก ทั้งยังขาดงานศึกษาวิจัยรองรับ จึงเป็นประเด็นการวิจัยที่ควรได้รับการพิจารณาสนับสนุนทุนวิจัยต่อไป การศึกษานี้เสนอให้ วช. พิจารณาประเด็นการวิจัยร่วมกับหน่วยงานที่ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยอื่น ๆ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านผู้สูงอายุ และหน่วยปฏิบัติว่า ประเทศไทยควรมีงานศึกษาวิจัยสนับสนุนในเรื่องใดบ้าง และควรมีการจัดอันดับความสำคัญ (priority) ของประเด็นการวิจัยต่าง ๆ สำหรับเป้าหมายย่อยที่ประเทศไทยยังไม่บรรลุค่าเป้าหมายของตัวชี้วัดและยังไม่มีงานวิจัยสนับสนุนนั้น SDG5 (ความเสมอภาคทางเพศ) ประกอบด้วยเป้าหมายย่อย 5.1 – 5.5 SDG10 (ยุติความไม่เสมอภาคในทุกมิติ) ประกอบด้วยเป้าหมายย่อย 10.2 – 10.4 และ SDG16 (การบังคับใช้กฎหมายและความยุติธรรม) ประกอบด้วยเป้าหมายย่อย 16.1, 16.3, 16.7, 16.9 และ 16.10 ตามลำดับ วช. อาจพิจารณาให้ทุนสนับสนุนการวิจัยจากเป้าหมายย่อยเหล่านี้

อนึ่ง การศึกษานี้จะเป็นประโยชน์โดยตรงกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการบริหารงานวิจัย และสนับสนุนงานวิจัยด้านผู้สูงอายุ และรับทราบถึงประเด็นการวิจัยที่ควร วช. อาจพิจารณาให้มีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม หน่วยงานให้ทุนสนับสนุนการวิจัยอื่น ๆ อาจใช้เป็นแนวทางในการสนับสนุนการวิจัยด้านผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน นอกจากนั้น ผู้สนใจทั่วไป นักวิชาการ และนักศึกษาที่สนใจงานศึกษาวิจัยด้านผู้สูงอายุในเชิงนโยบายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ก็จะได้รับความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ในบริบทของประเทศไทย