NIDA กับโครงการพัฒนาตลาดผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าจากฐานทรัพยากรชุมชน “ผลไม้แปลงร่าง”
- Details
- SDGs - Outreach
ที่มาและความสำคัญ
ด้วยกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ดำเนินโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิต และบริการด้าน BCG ในพื้นที่ผ่านองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ หรือ ‘มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ’ เพื่อเปิดโอกาสให้สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนการแก้ปัญหาสังคม ผ่านการเรียนรู้และปฏิบัติจริงในชุมชน
โดยทางทีมของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้เข้าร่วมโครงการและการแข่งขันแฮกกาธอน (U2T Hackathon 2021) โดยโครงการพัฒนาตลาดผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าจากฐานทรัพยากรชุมชนเป็น 1 ใน 5 ของทีมสุดยอดภาคกลางด้วยแนวคิดที่น่าสนใจในการทำผลไม้แปลงร่างภายใต้การนำของรศ.ดร.พัทรียา หลักเพ็ชร ผู้อำนวยการสำนักวิจัย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ผ่านการใช้องค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการและเทคโนโลยีการทำตลาดออนไลน์ไปวางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์พร้อมกับเพิ่มทักษะอาชีพให้แก่วิสาหกิจชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต หนึ่งในชุมชนเก่าแก่ของกรุงเทพฯ ที่ปัจจุบันมีอาชีพหลักการผลิตและจำหน่ายผลไม้แปรรูป
จุดเริ่มต้นเกิดจากการทำผลไม้แปรรูปของชุมชนนี้ที่ใช้ผลไม้ตามฤดูกาลผ่านกรรมวิธีหมักดองและแช่อิ่มแบบธรรมชาติดั้งเดิมมาพัฒนาให้เกิดเป็นแนวคิดผลไม้แปลงร่าง สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ กลายเป็น “มะม่วงหนึบ” ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์จากผลไม้หมักดองทั่วไปสู่ผลไม้หนึบ เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการแปรรูปโดยที่ไม่ได้เสียคุณค่าในตัวผลไม้ พร้อมกับเพิ่มชนิดผลไม้ที่มีสรรพคุณเป็นสมุนไพรเพื่อให้ไลน์ผลิตภัณฑ์มีความหลากหลายมากขึ้น มีการปรับสูตรให้ตอบโจทย์ผู้ที่ใส่ใจดูแลสุขภาพและผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่ชื่นชอบความแปลกใหม่โดยใช้หญ้าหวานแทนน้ำตาล ออกแบบให้มีขนาดพอดีคำ พกพาง่าย รสชาติอร่อย พร้อมกับสร้างตราผลิตภัณฑ์ให้เกิดเป็นอัตลักษณ์ประจำชุมชน เพิ่มช่องทางจำหน่ายทางแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ทั้งโซเชียลมีเดีย มาร์เก็ตเพลส ยูทูป และเดลิเวอรี่ และจะมีการผลักดันให้ได้รับการรับรองมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน อีกทั้งยังส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้าเป็นวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพพึ่งพาตัวเองได้ สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เพิ่มมูลค่าให้แก่คนในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง มีการเพิ่มขึ้นของจำนวนรายได้จากการเกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและการกระจายรายได้ให้กับคนทุกกลุ่มรวมถึงกลุ่มเปราะบางภายในชุมชนจากการใช้วัตถุดิบของท้องถิ่น