“นิด้า” โดยสำนักบริการการศึกษาและบรรณสาร จัดงานโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเกี่ยวกับขบวนการเสรีไทยและการรำลึกขบวนการเสรีไทย 2565 และกิจกรรมประกวดวิดีโอคลิปชิงทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย หัวข้อ “อุดมการณ์ของขบวนการเสรีไทยและบทเรียนสำหรับอนุชน”

เมื่อวันศุกร์ที่ 2 กันยายน 2565 สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โดยสำนักบริการการศึกษาและบรรณสาร จัดงานโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเกี่ยวกับขบวนการเสรีไทยและการรำลึกขบวนการเสรีไทย 2565 ณ ห้องประชุม ดร.สมศักดิ์ และคุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ชั้น 2 อาคารสยามบรมราชกุมารี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดยในงานได้รับเกียรติจาก พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ กล่าวเปิดงานและกล่าวปาฐกถา และได้รับเกียรติจาก Ms. Gwendolyn Cardno (เกว็นดลิน คาร์ดโน) Chargé d’Affaires a.i. (อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา) ขึ้นกล่าวปาฐกถาถึงขบวนการเสรีไทยอันเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับอนุชนรุ่นหลัง และได้มีการจัดกิจกรรมประกวดวิดีโอคลิป ภายใต้หัวข้อ “อุดมการณ์ของขบวนการเสรีไทยและบทเรียนสำหรับอนุชนโดยมีผู้เข้าร่วมงานจากทั้งสถานทูตสหรัฐอเมริกา ทายาทเสรีไทย และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมงาน”โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีชา จรุงกิจอนันต์ นายกสภาสถาบัน กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ทิพวรรณ หล่อสุวรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวรายงาน  

 โดยในช่วงเช้าของงาน ได้มีการจัดกิจกรรมประกวดวิดีโอคลิปชิงทุนการศึกษาสำหรับมัธยมศึกษาตอนปลาย ภายใต้หัวข้อ “อุดมการณ์ของขบวนการเสรีไทยและบทเรียนสำหรับอนุชน” โดยรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม “ชุมนุมศิลปะภาพยนตร์ โรงเรียนมัธยมวัดสุทธาราม” โรงเรียนมัธยมวัดสุทธาราม กรุงเทพมหานคร ที่ได้จัดทำวิดีโอคลิปในเรื่อง “หาญกล้ากับคำถามเรื่องเสรีไทย” สะท้อนมุมมองของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่กล้าที่จะตั้งคำถามกับสิ่งต่าง ๆ ที่สงสัยหรือเกิดขึ้น เช่นเดียวกับเรื่องของขบวนการเสรีไทย

ในส่วนของการกล่าวปาฐกถาพิเศษ โดย Ms. Gwendolyn Cardno อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ได้พูดถึงขบวนการเสรีไทยว่าเป็นเรื่องราวแห่งความกล้าหาญที่ยิ่งใหญ่ ทั้งยังเป็นการย้ำเตือนให้เราทราบถึงความสำคัญของผลประโยชน์ที่หยั่งรากลึกในการปกป้องอธิปไตยของชาติอันเป็นภารกิจสำคัญอันดับต้น ๆ ที่ทั้งสองชาติมีร่วมกัน โดยได้เล่าถึงความกล้าหาญของขบวนการเสรีไทยว่า “ในปี 2484 หลังจากการโจมตีที่อ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐฯ ในขณะนั้น ได้รับคำสั่งให้ยื่นคำประกาศสงครามกับสหรัฐฯ แต่ท่านกลับเลือกที่จะขัดคำสั่งนั้นอย่างกล้าหาญ โดยทำงานร่วมกับสหรัฐฯ เพื่อหาทางออกอย่างอื่น” ด้วยความร่วมมือกับสำนักงานบริการด้านยุทธศาสตร์สหรัฐฯ (หรือโอเอสเอส) อาสาสมัครชาวไทย 43 คน ซึ่งรวมถึงนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ร่วมกันแสวงหาหนทางที่จะต่อสู้เพื่อปกป้องเสรีภาพของพวกเขา งานของเสรีไทยจึงถือเป็นรากฐานสำคัญแห่งชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร และถึงแม้ไทยจะประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรชาติอื่น ๆ แต่สหรัฐฯ ก็ไม่เคยถือว่าไทยเป็นข้าศึกในสงครามแต่อย่างใด แต่กลับสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่สำคัญยิ่งกับขบวนการเสรีไทย Ms. Gwendolyn จึงขอสดุดีบุคคลผู้กล้าหาญเหล่านี้ ที่ความเสียสละของพวกเขาได้ปูทางสู่ความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างสหรัฐฯ กับไทยจวบจนทุกวันนี้ 

 นอกจากนี้ในช่วงท้ายของงานยังได้มีการแนะนำทายาทเสรีไทยสายอเมริกาที่เข้าร่วมงาน อาทิ คุณไกรศรี ตุลารักษ์ ทายาทสายตรงนายสงวน ตุลารักษ์, อาจารย์ดุษฎี พนมยงค์ และนายปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ ทายาทสายตรง นายปรีดี พนมยงค์, รศ.ดร.อุมา (หุวะนันทน์) สุคนธมาน ทายาท ศ.ดร.มาลัย หุวะนันทน์ อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, ศ.ดร.กัลยาณี เสนาสุ ทายาทอาจารย์ปรีชา เสนาสุ, ศ.กิตติมศักดิ์ ดร.อัศวิน จินตกานนท์ และผศ.ดร.อนุชา จินตกานนท์ ทายาทคุณอนันต์และคุณชุบ จินตกานนท์ และอื่น ๆ อาทิ ทายาทตระกูล นพวงศ์ ณ อยุธยา ตระกูลศรีวิจารณ์ ตระกูลเศวตศิลา ตระกูลจินตากานนท์ และตระกูลอินทรทัต เป็นต้น